Author Archives: sutichai

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

มาตรฐาน

ความหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ความหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 

**********************************

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517
ทรงเน้นย้ำถึง ความพอมีพอกินของประชาชนและประเทศชาติเป็นเบื้องต้น แต่ปีที่ประชาชน
ให้ความสนใจมากเป็นช่วงหลังจากเกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 นั่นเอง โดยมีหลักการ
เกี่ยวกับการใช้เงินเท่าที่มีตามฐานะของตนเอง และให้รู้จักการวางแผนการใช้เงิน โดยมีพระราชดำรัส
ความว่า “…การจะเป็นเสือนั้น ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกิน
หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว
จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้น มันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร
บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก…”
พระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 จากนั้นในปี 2542
จาก วารสารชัยพัฒนาประจำเดือน สิงหาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชดำรัส ความว่า

“เศรษฐกิจพอเพียง เป็น เสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอก
รองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม
และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป”

ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
อธิบายความหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ฟังว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญา
ชี้ถึงแนวทางการดำรงชีวิต การปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว
ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและการบริหารประเทศให้ดำเนินในทางสายกลาง
โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง
ความพอประมาณ ความ มีเหตุผล รวมถึงความ จำเป็นที่ จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตนเองที่ดี
พอสมควรต่อการที่มีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้เน้นว่าต้องอาศัย ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง
ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน
จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ ของรัฐ นักทฤษฎี และ
นักธุรกิจ ในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม
ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบเพื่อให้ สมดุลและพร้อม
ต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม
และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

“รู้จักพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง นี่คือ หลักของ
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางปฏิบัติที่จะทำให้ ตัวเราเอง ครอบครัวของเรา
ชุมชนของเรา และประเทศของเรานั้นไปสู่ความสุข พระองค์ท่าน ทรงให้ไว้
ในคำนิยามของปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียงที่ว่าต้องมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยน
แปลงทั้งในระบบโลกาภิวัตน์ หรือการเปลี่ยนแปลงในระบบสังคม ระบบนิเวศทาง
ด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ จนถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงแม้ในเรื่องชีวิตของเราเอง”

การจะไปถึงเป้าหมายของการปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดความสุขในครอบครัว ชุมชนและประเทศของเรา มีอยู่
2 เงื่อนไขด้วยกัน

เงื่อนไขแรก คือ ความรู้ ต้องรู้ลึก รู้กว้าง รู้รอบคอบ ก่อนที่จะนำสิ่งต่าง ๆ ไป
ปฏิบัติ ไม่ว่า
จะเป็นการปฏิบัติในตัวของเราเอง เช่น วันนี้จะรับประทานอะไรดี ถ้าเรามีความรู้
เราจะเลือกรับประทานในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้าเราไม่มีความรู้ เราก็
รับประทานอะไรโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ นั่นคือความสุขในตัวของเราเอง ซึ่งอาจจะ ทำให้ปวดท้องได้

“เงื่อนไขของความรู้ และรู้ลึกเหมือนกับวิทยาลัยปูทะเลที่เราได้ดูกันในพระมหาชนก ถ้าเราไม่มีความรู้ ใช้แต่เพียงรู้สึก
และไม่ได้ศึกษาอย่างรอบคอบ การที่เรานำไปปฏิบัตินั้นก็จะเกิดปัญหาอย่างมากมาย”

เงื่อนไขที่ 2 คือ จริยธรรม ไม่ใช่รู้แต่เพียงว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่ต้องรู้ว่าจะปฏิบัติจริยธรรมเหล่านั้น
อย่าง ไร ให้เกิดผลสำเร็จด้วย สิ่งเหล่านี้ คือเงื่อนไขหลักในการที่จะปฏิบัติ สู่แนวทางของเศรษฐกิจ
พอเพียงที่นำไปสู่ความสุข ความสุขนั้น มีหลากหลายทาง ในทางธรรมะ คือ สุข ที่ได้ปฏิบัติธรรม
ได้แสดงความเมตตากรุณาต่าง ๆ สุขทางด้านวัตถุหรือทางด้านกาย สุขทางด้าน จิตใจ และสุขสุดท้าย
ซึ่งเป็น ความสุขสูงสุด คือสุขของการเสียสละ เพราะฉะนั้นความสุขของแต่ละคนจึงมีได้หลายระดับ
ระดับของการปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสุข ระดับสุดท้าย คือ การพึ่งพาตัวเราเองได้
มากที่สุดและไม่เบียด เบียนผู้อื่น นั่นก็คือ ถ้าเราไม่ เบียดเบียนครอบครัวข้างบ้านเรา ชุมชนต่าง ๆ ก็มี
ความสุข เมื่อไม่เบียดเบียนชุมชนต่าง ๆ จังหวัดต่าง ๆ ก็ไม่เบียดเบียนกัน แต่กลับมีความเกื้อกูลกัน
ประเทศทั้งประเทศก็จะมีความสุข

ในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ ใช้นั้น พื้นฐานอันดับแรกคือ ต้องมีความเข้าใจถึงหลักเศรษฐกิจ
พอเพียง และเชื่อมั่นในหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ว่า เมื่อนำไปใช้แล้วจะทำให้เกิดประโยชน์และความสุข
ทั้งในปัจจุบันและอนาคต แล้วจึงจะมีความมั่นใจที่จะนำไปทดลองใช้ปฏิบัติ

หลังจากที่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว จำเป็นต้องทดลองนำมาประยุกต์ใช้กับตนเองทั้งในชีวิตประจำวันและการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่น โดยการประยุกต์ใช้นั้นต้องคำนึงถึง ความ พอประมาณ ในการดำรงชีวิตในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการบริโภค การกินอยู่หลับนอน การเข้าสังคม การใช้เวลาและทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ โดยเน้นการพึ่งตนเองเป็น หลัก ใช้เหตุผล เป็นพื้นฐานใน การตัดสินใจและการกระทำสิ่งต่าง ๆ สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี เพื่อ พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง และ ไม่ทำอะไรที่เสี่ยงเกินไป จน ทำ ให้ตนเองหรือคนรอบข้างเดือดร้อนในภายหลัง ต้องใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง และใช้ความรู้ด้วยความรอบคอบ และระมัดระวัง มี คุณ ธรรม คือความซื่อสัตย์ ความไม่โลภ รู้จักพอ ไม่เบียดเบียนกัน รู้จักแบ่งปัน ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งมีความเพียร

เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ จะทำให้ชีวิตมีความสุข เจริญก้าวหน้าอย่างสมดุลและยั่งยืน จะเห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจ แต่เป็นแนวทาง ในการดำเนินชีวิตของตนเอง ครอบครัว องค์กร จนถึงระดับประเทศเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามต้องคำนึงด้วยว่า ระดับความพอเพียงของแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน หรือความพอเพียงของคนคน เดียวกันแต่ต่างเวลาก็อาจเปลี่ยนแปลงไปได้แล้วแต่เงื่อนไขภายในและภายนอก ตลอดจนสภาวะแวดล้อมหรือสภาพภูมิสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน

แล้วคุณจะเป็นคนที่… ร่ำรวยความสุข…คนหนึ่ง.